กสอ.
คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร
ตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบเสวนเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 143/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร สั่ง ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านด้านเวชศาสตร์การบิน ด้านกฎหมาย ด้านการบำรุงรักษาอากาศยาน ด้านการปฏิบัติการบิน และด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ 5 คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยคณะกรรมการสอบสวน มีอำนาจดังนี้
- สอบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่อากาศยานในราชอาณาจักรอย่างเป็นอิสระ โดยให้สอดคล้องกับภาคผนวก 13 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2487 และมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุทำนองเดียวกันขึ้นอีก อันมิใช่การตำหนิบุคคลหรือกำหนดให้บุคคลใดรับผิด ไม่ว่าทางใด ๆ
- พิจารณาดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย เป็นรายกรณี
- พิจารณาแต่งตั้งผู้แทน ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมในการสอบสวนที่ดำเนินการโดยรัฐต่างประเทศ และพิจารณารับมอบการสอบสวนบางส่วนหรือทั้งหมดจากรัฐต่างประเทศ
- ดำเนินการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานไทยที่เกิดขึ้นในบริเวณที่มิใช่อาณาเขตของรัฐใด หรือในบริเวณรัฐซึ่งมิใช่รัฐภาคีโดยรัฐนั้นไม่ประสงค์จะดำเนินการสอบสวนตามภาคผนวก 13 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2487
- ทำการรวบรวม บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอ่านวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องบันทึกการบิน (ถ้ามี) โดยมิชักช้า
- ให้สิทธิผู้แทน ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งเข้าร่วมการสอบสวน
- ขอให้ประเทศหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งผู้แทน ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมในการสอบสวน
- แต่งตั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อเข้าร่วมในการสอบสวน
- พิจารณาเสนอความเห็นต่อปลัดกระทวงคมนาคมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ทราบโดยมิชักช้า ว่าไม่มีความจำเป็นต้องพิทักษ์อากาศยานหรือส่วนของอากาศยานอีกต่อไป
- พิจารณาจัดทำรายงานเบื้องต้น (Preliminary Report) และส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ
- พิจารณาจัดทำรายงานข้อมูลอุบัติเหตุ/อุบัติการณ์ (Accident/Incident Data Report) และส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้หลังจากสอบสวน
- จัดทำรายงานฉบับสุดท้าย (Final Report) ของการสอบสวนอุบัติเหตุแต่ละกรณีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุนั้น โดยให้เปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ รวมทั้งเสนอรายงานนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ในกรณีที่ไม่สามารถจัดทำรายงานฉบับสุดท้ายของการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ ให้จัดทำรายงานฉบับกลาง (Interim Report) ทุกหนึ่งปีจนกว่าการสอบสวนนั้นจะแล้วเสร็จ โดยให่้เปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ รวมทั้งเสนอรายงานนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนต่อสาธารณะ ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ ตามความเหมาะสม
- เสนอข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัยที่ได้รับจากการสอบสวนไปยัง
- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ
- หน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุของประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการ
- เสนอคำแนะนำว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงนิรภัยเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จไปยัง
- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ
- หน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุของประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการ
- ติดตามผลการดำเนินการตามข้เสนอแนะเพื่อความปลอดภัยและคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการเชิงนิรภัย โดยให้เปิดเผยให้สาธารณะทราบ และรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม
- มอบหมายการสอบสวนให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนของต่างประเทศให้ดำเนินการสอบสวนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
- หลังจากดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ หากปรากฏว่าหลักฐานที่มีความสำคัญซึ่งอาจทำให้ผลการสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป ให้เปิดการสอบสวนใหม่
- กำหนดขั้นความลับของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน
- มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยาน รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2487 และภาคผนวก 13
- พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนหรือมอบหมายบุคคล เพื่อดำเนินการเรื่องใด ๆ อันอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ในระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาาจักรตามคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 143/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาาจักร ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 การสอบสวนอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ของอากาศยาน ซึ่งได้ดำเนินการไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ และยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้