กสอ.

คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.)

องค์ประกอบ    

มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานขึ้นคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า กสอ. ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากผู้ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ด้านการปฏิบัติการบิน ด้านวิศวกรรมอากาศยาน ด้านเวชศาสตร์การบิน ด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ ด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนอ้นเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสอ. โดยมีกรรมการ กสอ. ทำงานเต็มเวลา จำนวน 3 คน มีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานเป็นเลขานุการของ กสอ. และข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานที่ปลัดกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งโดยคำเสนอแนะของผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน จำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

หน้าที่และอำนาจ

ตามมาตรา 64/4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 กสอ. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

  1. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์รุนแรง
  2. ดำเนินการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์รุนแรง
  3. เข้าร่วมในการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่ดำเนินการโดยรัฐต่างประเทศตามความเหมาะสม
  4. วิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยด้านการบิน และข้อมูลอุบัติเหตุ อุบัติการณ์รุนแรง และอุบัติการณ์
  5. จัดทำรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์รุนแรง
  6. เสนอแนะมาตรการเชิงป้องกันให้แก่หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวกับการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรณีที่ตรวจพบในระหว่างการสอบสวนว่าจำเป็นต้องดำเนินการโดยพลัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในด้านการบิน
  7. จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนของรัฐต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศตามที่เห็นสมควร และติดตามการดำเนินการ
  8. พิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัยจากหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนอุบัติเหตุของรัฐต่างประเทศ เพื่อส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการและติดตามการดำเนินการ
  9. จัดทำรายงานผลการดำเนินการประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการบินพลเรือน
  10. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง กสอ. อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการใด ๆ ตามที่ กสอ. มอบหมายได้

การปฏิบัติหน้าที่ของ กสอ. ตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับอนุสัญญาและภาคผนวก

ตามมาตรา 64/6 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์รุนแรง ให้ กสอ. มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

  1. เข้าไปในที่ดิน อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอากาศยานหรือส่วนของอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์หรือสิ่งที่อากาศยานนั้นบรรทุกมา ตก หรือปรากฏอยู่
  2. ควบคุม ตรวจ หรือค้นอากาศยาน สิ่งของ หรือสิ่งใด ๆ ในอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์
  3. เข้าไปเพื่อตรวจหรือค้นในสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานซึ่งอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ใช้เป็นที่ขึ้นหรือลง หรือในสถานที่ทำการของผู้ให้บริการจราจรทางอากาศหรือสถานที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศที่เกี่ยวข้อง
  4. ตรวจหรือค้นเอกสารหรือวัตถุใดอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ให้มีอำนาจยึดหรือเข้าควบคุมเอกสารหรือวัตถุอันเป็นหลักฐานดังกล่าวได้ แต่ต้องจัดทำบัญชีเอกสารและวัตถุดังกล่าวให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเอกสารหรือวัตถุนั้นไว้ด้วย
  5. ตรวจสอบหรือสั่งให้มีการตรวจสอบอากาศยานหรือส่วนของอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ หรืออากาศยานหรือส่วนของอากาศยานแบบเดียวกันกับอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์นั้น หรือตรวจสอบหรือสั่งให้มีการตรวจสอบสิ่งของหรือวัตถุอื่นใดโดยไม่ชักช้ำ เพื่อนำผลมาประกอบการสอบสวน
  6. สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

อำนาจการสอบสวนของ กสอ.

ตามมาตรา 64/7 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ในการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์รุนแรงของอากาศยานตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการได้ข้อมูลสำหรับการปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินอากาศเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุและอุบัติการณ์รุนแรงทำนองเดียวกันขึ้นอีก โดยมิใช่เป็นการสอบสวนเพื่อการกล่าวโทษบุคคลหรือกำหนดให้บุคคลใดต้องรับผิดไม่ว่าทางใด ๆ

ให้ กสอ. มีอำนาจสอบสวนอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ดังต่อไปนี้

  1. กรณีเกิดขึ้นในราชอาณาจักร
  2. กรณีเกิดขึ้นแก่อากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยซึ่งมิได้เกิดขึ้นตาม (1) โดย
    • อยู่ในอาณาเขตของรัฐที่ไม่ใช่ภาคีแห่งอนุสัญญาโดยรัฐนั้นไม่ประสงค์จะดำเนินการสอบสวนตามอนุสัญญาและภาคผนวก
    • อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่อาณาเขตของรัฐใด

การสอบสวนตามหมวดนี้ นอกจากการดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งแล้วต้องดำเนินการแยกออกจากการสอบสวนหรือการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจสอบสวนตามกฎหมายอื่นที่มุ่งหมายให้ได้ตัวผู้กระทำให้เกิดเหตุดังกล่าวหรือบุคคลใดซึ่งจะต้องรับโทษตามที่มีกฎหมายนั้นบัญญัติ

กสอ. อาจดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ใดที่มีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการของอากาศยานอย่างมีนัยสำคัญได้ การสอบสวนอุบัติการณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสอ. กำหนด ซึ่งอาจกำหนดในลักษณะเดียวกับการสอบสวนอุบัติการณ์รุนแรงได้ และให้มีอำนาจตามมาตรา 64/6 ด้วย โดยอนุโลม