เกี่ยวกับกระทรวง

กรมทางหลวง

  • ประวัติ
  • วิสัยทัศน์ พันธกิจ
  • อำนาจหน้าที่

ประวัติกรมทางหลวง

   กรมทางหลวงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 131 ตรงกับ พ.ศ. 2455 แต่เดิมนั้นจะมีแต่กรมคลอง ซึ่งอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการ ล่วงมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล่าฯ ให้ยุบกรมคลองมาขึ้นกับกระทรวงโยธาธิการและใช้ชื่อว่า “กรมทาง” ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคมตามประกาศจัดราชการรัตนโกสินทร์ศก 131

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2457

   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนแผนกทางน้ำของกรมทางไปให้กรมทดน้ำ คือกรมชลประทานขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการกรมทางจึงเหลืออยู่แต่กองทางบกเพียงอย่างเดียว โดยมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2460

   ภายหลังที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน ออสเตรีย – ฮังการี ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้กรมทางไปอยู่กับกรมรถไฟหลวง สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการรถไฟหลวง เพื่อสะดวกแก่กรมรถไฟหลวงและกรมทางที่จะได้ใช้วิศวกรที่มีเป็นชนชาติศัตรูที่ต้องถูกควบคุม เป็นเชลยศึกและปลดออกจากประจำการหลายคน ในสมัยนั้นมีนายช่างทางเอกเป็นหัวหน้ากรมทาง

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475

   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม กับกระทรวงเกษตราธิการเข้าเป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่า "กระทรวงเกษตรและพณิชยการ" กรมรถไฟหลวง ซึ่งมีกรมทางรวมอยู่ จึงเปลี่ยนเป็นสังกัดกระทรวงเกษตรและพณิชยการ

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476

   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราช บัญญัติ จัดตั้งกระทรวง ทบวงกรม พุทธศักราช 2475 ยุบเลิกกระทรวงเกษตรและพณิชยการ กรมรถไฟหลวง ซึ่งมีกรมทางหลวงรวมอยู่ด้วย ไปสังกัดกระทรวงเศรษฐการ

วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2477

   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างทาง และบำรุงรักษาทางหลวงพุทธศักราช 2477 ของกรมทางให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาเทศบาล สังกัดกระทรวงมหาดไทย

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2484

   ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กองทางก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมทางโอนสังกัดจาก กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย มาสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484 แม้จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคมแล้วก็ตามก็ยังไม่มีที่ ทำการเป็นของตนเอง ยังคงอาศัยอยู่ในกรมโยธาเทศบาลที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2491 จึงได้ย้ายไปอยู่ ที่ถนนพระราม 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทางหลวงในปัจจุบัน และได้ทำพิธีเปิดอาคารที่ทำการของกรมด้านถนนศรีอยุธยา เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2498

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495

   กรมทางหลวงได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทางหลวงแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 สังกัดกระทรวงคมนาคม

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506

   กรมทางหลวงแผ่นดินได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทางหลวง สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. 2506

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2515 จนถึงปัจจุบัน

กรมทางหลวงได้โอนไปสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยลำดับดังนี้
-- ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216
-- พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534
-- พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

 

วิสัยทัศน์

"มุ่งสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำด้านงานทาง เชื่อมโยงการขนส่ง อย่างยั่งยืน"

พันธกิจ

1. พัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวง และเชื่อมโยงระบบขนส่ง เพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง
2. พัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวง และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่องรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน
3. กำกับ ดูแล ปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง เพื่อให้เกิดระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
4. กำกับ ดูแล และปรับปรุงทางหลวง ให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทาง
5. พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อพลวัตของการเปลี่ยนแปลงในเชิงบูรณาการ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การบริการ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 ค่านิยม 

4G
- GOOD KNOWLEDGE AND EXPERIENCE : องค์กรที่มีความรู้ความชำนาญด้านงานทางสูง
- GOOD TECHNOLOGY AND COMMUNICATION : ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ทันสมัย
- GOOD GOVERNANCE : ยึดหลักธรรมาภิบาลตามแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
- GOOD SERVICE AND ENVIRONMENT : ใส่ใจการให้บริการผู้ใช้ทาง และรักษาสิ่งแวดล้อม

 ยุทธศาสตร์

- การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง
- การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
- การดูแลรักษา ปรับปรุง และพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค
- การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้ได้มาตราฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร ตอบสนองสังคมและสิ่งแวดล้อมตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

กลยุทธ์
- การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายทางหลวง
- การเพิ่มความคล่องตัวในการสัญจรบนโครงข่ายทางหลวง
- พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
- พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบ
- การให้ความสำคัญต่องานอำนวยความปลอดภัยทางถนนเพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวง
- การบูรณะบำรุงรักษาทางหลวงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- การเพิ่มความสำคัญของการลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมงานทางบนโครงข่ายทางหลวง
- บูรณาการแผนงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและรักษาสิ่งแวดล้อมบนโครงข่ายทางหลวง
- พัฒนาและปรับปรุงองค์กรตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
- การปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับกาเปลี่ยนแปลงตามแนวทางการเพิ่มคุณภาพการบริหารภาครัฐ