หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ทำหน้าที่ให้บริการ ควบคุมจราจรทางอากาศ และสื่อสารการบิน จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นทางทวีปเอเชีย ส่งผลให้ อากาศยานพลเรือนไม่อาจทำการบิน จึงต้องเลิกกิจการลง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การประกอบธุรกิจการบิน ระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น บริษัท Aeronautical Radio Inc. (ARINC) จากสหรัฐอเมริกา บริษัท International Aeradio Ltd. (IAL) จากอังกฤษ และสายการบินต่างๆ ที่ทำการบินมายังประเทศไทย ได้ร่วมกันขออนุมัติรัฐบาลไทยจัดตั้ง บริษัท การบินแห่งสยามจำกัด AERONAUTICAL RADIO OF SIAM LTD. หรือ AEROSIAM ในปี พ.ศ.2491 เพื่อดำเนินกิจการบริการควบคุมจราจรทางอากาศ และสื่อสารการบินตามมาตรฐาน และข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ภายใต้สัญญาที่ได้รับจากรัฐบาลไทย
จนกระทั่งต่อมารัฐบาลไทยซึ่งได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญของภารกิจวิทยุการบินฯ ตลอดมาว่าเกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงแห่งชาติ และการพัฒนากิจการบิน ประกอบกับมีความพร้อมในทุกๆด้าน แล้ว จึงได้ขอซื้อหุ้นทั้งหมดคืน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น AERONAUTICAL RADIO OF THAILAND LTD. หรือ AEROTHAI ในเวลาต่อมายังได้อนุญาตให้ สายการบินที่ทำการบินมายังประเทศไทย เป็นประจำ ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นกับรัฐบาลด้วย วิทยุการบินฯ จึงได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัด กระทรวงคมนาคม ถึงแม้จะดำเนินการ ในรูปบริษัทจำกัด แต่เนื่องจากมีข้อผูกพันในฐานะที่ปฏิบัติงานในนามรัฐบาล ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกของ ICAO และตามข้อตกลงที่มีไว้กับรัฐบาล วิทยุการบินฯ จึงดำเนินการแบบไม่ค้ากำไร ในการให้บริการภาคความปลอดภัย ได้แก่ บริการควบคุมจราจรทางอากาศ และสื่อสารการบิน ในอาณาเขตประเทศไทย โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบริการภาคธุรกิจ คือ บริการเกี่ยวเนื่องกับกิจการบินทั้งใน และต่างประเทศ
ปัจจุบันนับเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่วิทยุการบินฯ ได้ดำเนินกิจการด้วยความมุ่งมั่น ที่รักษาคุณภาพ การให้บริการ พัฒนาเทคโนโลยี และบุคลากรให้มีความทันสมัย และประสานความร่วมมือกับองค์กรการบิน ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อจะมีส่วนร่วมมือกับองค์กรการบินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมีส่วนร่วมนำความเจริญก้าวหน้า มาสู่กิจการบินทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
พัฒนาการสู่หน่วยงานควบคุมการบินแห่งชาติ
เดิมประเทศไทย มีหลายองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายที่จะรวมงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทฯ เพียงหน่วยงานเดียวเพื่อพัฒนากิจการขนส่งทางอากาศ ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารและพัฒนาระบบงาน ทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยี ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี และได้มีมติให้ความไว้วางใจมอบหมายงานบริการควบคุมจราจรทางอากาศ สื่อสารการบิน เครื่องช่วยการเดินอากาศ และบริการเกี่ยวเนื่องกับการบิน ที่ท่าอากาศยานสากล ส่วนภูมิภาคคือ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2531 หาดใหญ่และภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2531 ให้บริษัทฯ ดำเนินการแทนกรมการบินพาณิชย์
รวมถึงสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศอิสระที่ ชุมแพ นครราชสีมา ระยองและปราจีนบุรี และท่าอากาศยานอื่นๆ ที่จะสร้างใหม่หรือเปิดให้บริการในอนาคต
การรับโอนการปฏิบัติงานนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ ปฏิบัติงานในฐานะหน่วยงานควบคุมการบินแห่งชาติ มีหน้าที่หลักในการบริการการเดินอากาศ พัฒนางานบริหารทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายตามแผนพัฒนาฯ ข้างต้น
หน้าที่และความรับผิดชอบ
บริษัทฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทย ให้เป็นหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้
1. การบริหารจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management)
2. การบริหารระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน (Aeronautical Communication,Navigation and Surveillance System/Services)
3. การบริการข่าวสารการเดินอากาศและงานแผนที่เดินอากาศ (Aeronautical Information Services and aeronautical Charts)
รวมทั้ง บริการเกี่ยวเนื่อง และงานตามนโยบายรัฐบาล
วิสัยทัศน์
" ยกระดับคุณภาพ การให้บริการการเดินอากาศ สู่การเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของอาเซียน อย่างยั่งยืน "
พันธกิจ
" เป็นผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการด้วยความปลอดภัย
เป็นมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและผลประโยชนแห่งชาติ "
วัฒนธรรมองค์กร
พนักงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบวัฒนธรรมองค์กร
Safety ความปลอดภัย
ให้บริการลูกค้าทั้งภายนอกและภายใน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยสัญชาตญาณความปลอดภัยที่ตรงตามมาตรฐานสูงสุด
- จิตสำนึกความปลอดภัย Safety Instinct
- แรงขับเคลื่อนของความปลอดภัย Safety Driven
- มาตรฐานความปลอดภัย Safety Standard
Morality จริยธรรมเพื่อส่วนรวม
ตั้งมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ในการปฏิบัติงาน การเป็นผู้ให้ คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมและองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ
- ซื่อสัตย์ Honest
- ทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม Giver
- ประโยชน์องค์กรสำคัญที่สุด Organization First
Accountability ความรับผิดชอบต่อตนเองและหน้าที่
รับผิดชอบ ทุ่มเท เสียสละในการปฏิบัติงาน สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบของวินัยแห่งความถูกต้องเป็นธรรมและตรวจสอบได้
- ควบคุมตนเอง Self-control
- รับผิดชอบ Accountability
- เสียสละ Sacrifice
Recognition การเป็นที่ยอมรับในความเป็นมืออาชีพในระดับสากล
ขวนขวาย ศึกษาเรียนรู้ และคิดริเริ่มปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง มีความน่าเชื่อถือด้วยจุดยืนในวิชาชีพของงานปฏิบัติการและสนับสนุนการจราจรทางอากาศอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
- ใฝ่รู้ Passion of Learning
- นวัตกรรม Innovation
- น่าเชื่อถือ Trustworthy
Teamwork ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของส่วนรวม ด้วยความเอื้อเฟื้ออาทรและมีสัมมาคารวะดุจเป็นพี่น้องกัน
- ผูกพันฉันท์พี่น้อง Brotherhood
- ทำงานเป็นทีม Teamwork
- ร่วมแรงร่วมใจ Collaboration