เกี่ยวกับกระทรวง

สถาบันการบินพลเรือน

  • ประวัติ
  • วิสัยทัศน์ พันธกิจ
  • อำนาจหน้าที่
  • รายงาน

ประวัติ สถาบันการบินพลเรือน

สถาบันการบินพลเรือน จัดตั้งขึ้นในลักษณะของโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนพิเศษ สหประชาชาติ (United Nations Special Fund :UNSF) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ภายใต้ชื่อ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2504-2508 ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจการบินพลเรือนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เจริญรุดหน้าทันกับเทคโนโลยีตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดไว้ ในภาคผนวกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลไทยได้รับมอบศูนย์ฝึการบินพลเรือนในประเทศไทยมาดำเนินการ โดยให้มีฐานะเป็นสถานฝึกอบรมอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการบินพาณิชย์ (ปัจจุบันคือกรมขนส่ง-ทางอากาศ) กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2509 และในปี พ.ศ. 2530 รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการบินพาณิชย์ใหม่ โดยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย (มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกอง) ในกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เพื่อให้การปฎิบัติราชการเกิดความคล่องตัว ประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพงานในขณะนั้น

ด้วยความสำคัญของการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้วนการบิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการพัฒนาประเทศชาติโดยรวม และเพื่อให้การบริหารงานของภาครัฐมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ.2535 แปรสภาพ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย เป็น สถาบันการบินพลเรือน รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 6 ให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) มีวัตถุประสงค์ในการจัดดำเนินการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบิน และดำเนินกิจการเกี่ยวกับบริการช่างอากาศบริการอากาศยานและกิจการอื่นเกี่ยว กับการบินเพื่อประโยชน์ในการผลิตบุคลากรดังกล่าว

โดย สบพ. มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

1. ฝึกอบรมด้านกิจการบินพลเรือนระหว่างประเทศให้ได้มาตราฐานตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาการบินระหว่างประเทศ และรับผิดชอบการฝึกอบรมภายในประเทศ ให้สอดคล้องตามกฏหมายเกี่ยว กับการเดินอากาศภายในประเทศ
2. ผลิตบุคลากรด้านการบินพลเรือนให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศเพื่อสนับสนุนหน่วยงานการขนส่งทางอากาศ ของภาครัฐและเอกชน ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาบุคลากรการบินของประเทศ

อำนาจหน้าที่

ศูนย์ฝึกการบิน

1. อำนวยการด้านการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรการบิน 
    2. ควบคุม กำกับและดูแลอากาศยานและอุปกรณ์ 
    3. งานซ่อมบำรุงอากาศยานและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


กองฝึกบิน

1. อำนวยการด้านการผลิตนักบิน การฝึกอบรม วิจัยและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบิน 
    2. การเพิ่มศักย์การบิน การตรวจสอบมาตรฐานการบิน 
    3. ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร กำหนดแนวทางและประเมินผลการฝึกอบรมทางด้านการบินให้ได้ตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


กองซ่อมบำรุงอากาศยาน

1. ควบคุม กำกับ ดูแลการซ่อมบำรุงอากาศยาน เครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์และบริภัณฑ์อากาศยานให้เป็นไปตามแผนกำหนดการตรวจสอบและกำหนดมาตรฐานการซ่อมบำรุง 

    2. สนับสนุนภารกิจการฝึกศิษย์การบินในทุกหลักสูตร ตลอดจนให้บริการซ่อมอากาศยานแก่หน่วยงานภายนอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


กองวิชาอากาศยานและเครื่องยนต์

    ดำเนินการจัดการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานและอวกาศยาน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


กองวิชาบริการการบิน

    ดำเนินการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางด้านบริการการบินในกลุ่มปฏิบัติการ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


กองวิชาอิเล็กทรอนิกส์การบิน

1. ดำเนินจัดการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์การบิน 

    2. จัดการเรียนการสอนวิชาสารสนเทศทางด้านการบิน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


กองวิชาบริหารการบิน

    ดำเนินจัดการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางด้านบริหารการบิน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


กองวิชาภาษาอังกฤษเทคนิคการบิน

    ดำเนินจัดการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางด้านภาษาอังกฤษเทคนิคการบิน (Aviation Technical English) ภาษาอังกฤษทั่วไป และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO)


สำนักผู้ว่าการ

1. วางแผน จัดอำนวยการ ประสานงาน และควบคุมการบริหารงานทั่วไปของ สถาบันการบินพลเรือน เกี่ยวกับ 
       - งานนโยบายและแผนงาน 
       - งานทรัพยากรบุคคลและสวัสดิการ 
       - งานนิติการ 
       - งานจัดหา 
       - งานเลขานุการ 
       - งานธุรการ 
       - งานแผนแบบ 
       - งานก่อสร้าง 
       - งานซ่อมบำรุง 
       - งานอาคารสถานที่ 
       - งานยานพาหนะ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 
    2. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก


สำนักการเงินการคลัง

บริหารจัดการงานด้านการงบประมาณ การเงิน การบัญชี การพัสดุ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ สถาบันการบินพลเรือน


สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศการบิน

1. วางแผน ควบคุม กำกับ ดูแล จัดระบบ จัดหา อำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการศึกษา เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่าย เทคโนโลยีการสื่อสาร งานผลิตและพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ งานโสตทัศนูปกรณ์ ดูแล จัดหา บำรุงรักษา ให้บริการ อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ งานห้องสมุดและพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ ทรัพยากรสารสนเทศ ระบบเครือข่ายและการสื่อสารข้อมูลและบริการ และงานการพิมพ์ ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย 
    2. ติดต่อ ประสานงานและทำความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ


สำนักวิจัยและพัฒนาธุรกิจการบิน

1. ดำเนินการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อไปสู่ธุรกิจด้านการฝึกอบรมให้เป็นสากลในด้านการบิน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีและเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขัน 
    2. ติดต่อประสานงานในการวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรวมทั้งกำกับ ดูแล งานด้านประชาสัมพันธ์ 
    3. ตรวจสอบงานด้านการตลาด ส่งเสริมการขาย โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ก่อให้เกิดความสนใจต่อลูกค้าหรือมีนักศึกษาและผู้เข้าอบรมมากขึ้น


สำนักงานตรวจสอบภายใน

    ปฏิบัติงานให้คำแนะนำ ปรึกษา และตรวจสอบ เพื่อให้ความมั่นใจด้วยความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด