ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้วในโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้วในโลกนับตั้งแต่สมัยตั้งกรุงสุโขทัยตลอดจนกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงสุโขทัยตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ซึ่งทรงเป็นประมุขของประเทศได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการคมนาคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่ชาติเสมือนโลหิตที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ และในบรรดาทางเดินของโลหิตสายนั้นการรถไฟคือทางเดินของโลหิตสำคัญสายหนึ่ง ซึ่งในราชอาณาจักรไทยสมัยก่อน ๆ ยังไม่เคยมีเค้ารูป และโครงการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะแสดงให้เป็นที่ปรากฏชัดว่าการคมนาคมทางบกภายในประเทศจะมีการขนส่งโดยทางรถไฟของรัฐบาลเกิดขึ้นเลย เพราะในเวลานั้นประชาชนยังนิยมใช้สัตว์ เช่น โค กระบือ ม้า ช้างและเกวียน เป็นพาหนะเพื่อประโยชน์ในการเดินทางและในการลำเลียงสินค้าต่าง ๆ จากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่งจนกระทั่งการขนส่งโดยทางรถไฟได้เริ่มมีชีวิตจิตใจขึ้นจนสำเร็จเป็นรูปร่างอันสมบูรณ์ในรัชสมัย
" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ "
โดยมีประกาศ พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม
ตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา
ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433
ก่อนที่การรถไฟหลวงจะถือกำเนิดขึ้นนั้นปรากฏว่าในปีพุทธศักราช 2398 รัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษให้ เซอร์ จอห์น เบาริง (Ser John Bowring) ผู้สำเร็จราชการเกาะฮ่องกง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม พร้อมด้วย มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค (Mr. Harry Smith Parkes) กงสุลเมืองเอ้หมึง เป็นอุปทูล เดินทางโดยเรือรบหลวงอังกฤษเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางราชไมตรีฉบับที่รัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ทำไว้กับรัฐบาลไทยเมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 ซึ่งในกาลนั้น มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค ได้นำสนธิสัญญาฉบับใหม่ออกไปประทับตราแผ่นดินอังกฤษ แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากับฝ่ายไทย กับอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้ามาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาทิ รถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริงประกอบด้วย รถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน เดินบนรางด้วยแรงไอน้ำทำนองเดียวกับรถใหญ่ที่ใช้อยู่ในเกาะอังกฤษ(ขณะนี้รถไฟเล็กได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ราชบรรณาการในครั้งนั้นสมเด็จพระนางวิคตอเรีย ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในฐานะไม่มั่นคง และมีจำนวนพลเมืองน้อย กิจการจึงต้องระงับไว้
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เหตุการณ์ทางด้านการเมือง สืบเนื่องมาจากนโยบายขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส แผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ เพราะการใช้แต่ทางเกวียนและแม่น้ำลำคลองเป็นพื้นนั้น ไม่เพียงพอแก่การบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีจิตใจโน้มเอียงไปทางประเทศใกล้เคียง สมควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศเพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดนก่อนอื่น ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกรานเป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมืองเข้าบุกเบิกพื้นที่ รกร้างว่างเปล่า ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ และจะเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปี พ.ศ.2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และมีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี - เมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง โดยทำการสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอนๆ รวม 8 ตอน ในราคาค่าจ้างโดยเฉลี่ยไม่เกินไมล์ละ 100 ปอนด์ ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2430 เมื่อได้สำรวจแนวทางต่าง ๆ แล้ว รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าจุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อนอื่น คือ นครราชสีมา ดังนั้นในเดือนตุลาคม 2433จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการมีพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก ( K. Bethge ) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟพร้อมกันนั้นได้ เปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพ ปรากฏว่า มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบล แห่งอังกฤษ เป็นผู้คำประกันประมูลได้ในราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาเป็นเงิน 9,956,164 บาท
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา เป็นสายแรกเป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 09 มีนาคม พ.ศ.2434ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟฯได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ
ในปี พ.ศ.2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - นครราชสีมา สำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้ ดังนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นต้นไป ในระยะแรกเดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ซึ่งการรถไฟฯ ได้ถือเอา " วันที่ 26 มีนาคม " เป็น วันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อจากนั้นก็ได้เปิดการเดินรถต่อไปอีกเป็นระยะ ๆ จากอยุธยา ถึง แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2443 การสร้างทางรถไฟสายนครราชาสีมา ได้เสร็จเรียบร้อย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถสายนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2443 รวมระยะทางจาก กรุงเทพ - นครราชสีมา ทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร สิ้นเงินในการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ 17,585,000 บาทเมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกสำเร็จลงตามพระราชประสงค์แล้ว ก็ทรงพิจารณาสร้างทางรถไฟสายอื่น ๆ ต่อไป จนกระทั่งสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแทนพระบรมราชชนก ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่ากิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ ซึ่งแยกกันอยู่ไม่สะดวกแก่การบังคับบัญชาและบริหารงาน ตลอดจนไม่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2460 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า " กรมรถไฟหลวง " กับได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ " กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน " ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก
ในสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงอยู่นั้น ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล และทรงตระหนักดีว่าการใช้รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถ นอกจากจะไม่สะดวกและประหยัดแล้ว ลูกไฟที่กระจัดกระจายออกมา ยังเป็นอันตรายได้ พระองค์จึงทรงสั่งรถจักรดีเซล จำนวน 2 คันมาจากสวิสเซอร์แลนด์ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก
ซึ่งรถจักรดีเซลการกลคันแรก เลขที่ 21-22 ได้ออกวิ่งรับใช้ประชาชนเมื่อ พ.ศ.2471 ปัจจุบันรถจักรประวัติศาสตร์คันนี้ยังคงอยู่การรถไฟฯ ได้นำมาติดตั้งที่ ตึกบัญชาการรถไฟ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ต่อไป และเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้จึงได้ประดับเครื่องหมาย "บุรฉัตร" อันเป็นพระนาม ของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึกและเทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป
กิจการรถไฟซึ่งได้เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2439 จนกระทั่งสิ้น รัชสมัยของพระองค์ในปี พ.ศ.2453 มีทางรถไฟที่เปิดใช้เดินรถรวมทั้งสิ้น 932 กิโลเมตร และกำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอีก 690 กิโลเมตร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีทางรถไฟที่เปิดใช้ทั้งหมด 2,581 กิโลเมตร และอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 497 กิโลเมตร
ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบายในการบำรุงการคมนาคมเช่นเดียวกับรัชกาลก่อน ๆ แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังปั่นป่วน ดังนั้น การก่อสร้างทางรถไฟสมัยนี้จึงเป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยมีทางรถไฟเพิ่มขึ้นใหม่อีก 418 กิโลเมตร
กิจการรถไฟในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันนทมหิดล รัชการที่ 8 ก็เช่นเดียวกันกับรัชการก่อน ประเทศไทยต้อง ประสบกับสภาวะทางการเงิน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การก่อสร้างทางรถไฟไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยมีทางรถไฟก่อสร้างเพิ่มอีก 259 กิโลเมตร
สำหรับกิจการรถไฟในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการรถไฟประสบภัยสงครามอย่างหนัก ทรัพย์สินทั้งทางอาคาร และรถจักรล้อเลื่อน ได้รับความเสียหายมาก จำต้องเริ่มบูรณะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ถ้าจะอาศัยเงินลงทุนจากงบประมาณของรัฐแหล่งเดียวจะไม่ทันการณ์ รัฐบาลจึงต้องขอกู้เงินจากธนาคารโลกมาสมทบ ในระหว่างเจรจากู้เงินนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้รัฐปรับปรุงองค์กรของกรมรถไฟหลวง ให้มีอิสระกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารกิจการรถไฟในเชิงธุรกิจ
ในปี พ.ศ.2494 รัฐบาลสมัย จอมพล.ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นสมควรจัดตั้งกิจการรถไฟเป็นเอกเทศจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ต่อรัฐสภา และได้มีพระบรมราชโองการให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2494 กรมรถไฟหลวงจึงเปลี่ยนฐานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปการภายใต้ชื่อว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย " ตั้งแต่วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ.2494 เป็นต้นมา
ทางสายเหนือ ถึง สถานีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ความยาว 752.077 กิโลเมตร และมีทางแยกที่สถานีชุมทางบ้านดาราจังหวัดพิษณุโลก ถึง สถานีสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ความยาว 29.007 กิโลเมตร
ทางสายใต้ จากสถานีธนบุรี - สถานีสุไหลโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ความยาว 1,144.140 กิโลเมตร , ทางแยกสถานีปาดังเบซาร์ ความยาว 43.502 กิโลเมตร , ทางแยกสถานีสุพรรณบุรี ความยาว 78.090 กิโลเมตร , ทางแยกคีรีรัฐนิคม ความยาว 31.250 กม. ทางแยกกันตัง ความยาว 92.802 กิโลเมตร และทางแยกนครศรีธรรมราช ความยาว 35.081 กิโลเมตร
ทางสายตะวันตก ถึง สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 130.989 กิโลเมตร
ทางสายตะวันออก ถึง สถานีอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ความยาว 260.449 กิโลเมตร , คลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ความยาว 81.358 กิโลเมตร , ชุมทางเขาชีจรรย์ - มาบตะพุต ความยาว 24.070 กิโลเมตร
ปรับปรุงข้อมูล กรกฎาคม 2564
วิสัยทัศน์ ( Vision )
"เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570"
พันธกิจ ( Missions )
1. ขยายขีดความสามารถในการบริการทางราง และการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งทางด้านคุณภาพและประสิทธิภาพในการขนส่ง
2. บูรณาการการเชื่อมต่ออย่างครบวงจรและครอบคลุม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศจากต้นทางสู่ปลายทาง
3. สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการทำธุรกิจเชิงรุก และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ส่งเสริมการกระจายความเจริญ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านบริการขนส่งขั้นพื้นฐานแก่ประเทศ สถาบันและสังคม
5. ประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
วัตถุประสงค์ ( Objectives )
1. เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการขนส่งทางรางที่ทันสมัยและการบริหารจัดการที่ดีส่งเสริมการแข่งขันของประเทศภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
2. เพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงานของการรถไฟฯ ทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจรอง รวมทั้งมีการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนของการรถไฟฯ ในระยะยาว
4. เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ของการรถไฟฯ ในการผลักดันวิสัยทัศน์การรถไฟฯ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
5. เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ ( Strategies )
สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มแผนยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง
1.1) การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค
1.2) การเพิ่มจำนวนของรถจักร และล้อเลื่อนให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ
1.3) การพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณ
1.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษา
1.5) การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย
2.1) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในธุรกิจหลัก
2.2) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีใหญ่
2.3) การศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่
2.4) การลดค่าใช้จ่าย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อน และการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน
3.1) มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยง และสนับสนุนการตัดสินใจส่งเสริมการปฏิบัติงาน
3.2) การบริหาร และพัฒนาองค์กร
3.3) การบริหาร และพัฒนาบุคลากร
ปรับปรุงข้อมูล กรกฎาคม 2564
ศูนย์ประสานงานและเลขานุการคณะกรรมการรถไฟ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านเลขานุการ การประชุม สารสนเทศ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย
ฝ่ายตรวจสอบภายใน
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน ตรวจสอบ สอบทาน ติดตาม ประเมินความพอเพียงและประเมินประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในของระบบต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานนโยบาย แผน วิจัยและพัฒนา
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย แผนวิสาหกิจ การวิเคราะห์โครงการลงทุน การแก้ไขปรับปรุงแผนและโครงการ การติดต่อประสานงานการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานผู้ว่าการ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานเลขานุการ งานธุรการ ของผู้ว่าการและผู้บริหารระดับสูง งานทะเบียนกลาง การรับส่งและจัดเก็บเอกสาร การจัดประชุม สัมมนา และประสานงานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานอาณาบาล
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านกฎหมาย การสอบสวนและการดำเนินคดี การเจรจาตกลงเกี่ยวกับการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายทั่วไป ให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย เป็นตัวแทนของการรถไฟฯ ในกรณีฟ้องหรือถูกฟ้องคดี ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานแพทย์
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การกำหนดเป้าหมาย บริหารงานโครงการด้านแพทย์ สงเคราะห์ อำนวยการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพและอนามัย ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์แก่ผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว รวมทั้งผู้โดยสารรถไฟ ตามสถานที่ของการรถไฟฯ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานสินทรัพย์ถาวร
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำและควบคุมทะเบียนสินทรัพย์ถาวรของการรถไฟฯ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ศูนย์บริหารความเสี่ยง
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล กลั่นกรอง วิเคราะห์ วางแผน และประสานงานการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริหารท่องเที่ยว
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผนและดำเนินการเผยแพร่กิจการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ตลอดจนป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างการรถไฟฯ กับบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ การโฆษณาเผยแพร่บริการรถไฟ ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยว
กองบังคับการตำรวจรถไฟ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน ระงับและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในเขตและบนขบวนรถ การแบ่งส่วนงานของกองตำรวจรถไฟ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ฝ่ายการเดินรถ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผน การสั่งการ ควบคุม ดูแล การบริหารจัดการเดินรถ เพื่อรับส่งผู้โดยสารและสินค้า ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการพาณิชย์
มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน ควบคุม บริหารจัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการตลาดและการบริการต่าง ๆ ทั้งด้านการโดยสารและด้านการสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าภาระต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานขนส่งคอนเทนเนอร์
มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน ควบคุมบริหารจัดการ สั่งการเกี่ยวกับระบบการขนส่งคอนเทนเนอร์ การจัดขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ ระหว่างลาดกระบังถึงท่าเรือแหลมฉบัง ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการช่างโยธา
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม พัฒนา ซ่อมบูรณะ บำรุงรักษา ออกแบบแผนผัง ผลิต และซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ จัดทำโครงการวางแผนปฏิบัติ ซ่อมแซม ทาง สะพาน ช่องระบายน้ำ อุโมงค์ อาคารสถานที่ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ และงานด้านเทคนิควิศวกรรมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม พัฒนา ออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษาซ่อมแซมจัดทำโครงการ วางแผนปฏิบัติ การจัดหาเครื่องอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม ไฟฟ้า แสงสว่าง เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสื่อสารต่าง ๆ ให้สอดคล้องประสานสัมพันธ์กับความต้องการของการเดินรถ
ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผน บริหารจัดการ การดำเนินงานโครงการขนส่งระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อสร้างทางสายใหม่ โครงการก่อสร้างทางคู่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างทาง และโครงการรถไฟความเร็วสูง ติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมการก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน และงานด้านเทคนิควิศวกรรม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผน บริหารจัดการและอำนวยการโครงการขนส่งระบบรางเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายบริหารงานบุคคล
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการวางนโยบายระเบียบและวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เพื่อให้ได้มาพัฒนา บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพและปริมาณเพียงพอ ให้บริการงานบุคคล ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการเงินและการบัญชี
มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ การบริหารจัดการงานด้านการเงินและการบัญชีให้เป็นไปตามนโยบายคำสั่งและวิธีการปฏิบัติการต่าง ๆ ควบคุมให้มีการกำหนดมาตรฐานการบัญชี การรายงานด้านการเงิน การควบคุมงบประมาณและปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายระบบข้อมูล
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ เทคโนโลยีสารสนเทศ วางแผนโครงการ วางระบบสารสนเทศ และรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ และพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผนและการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เช่าหรือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาคาร สถานที่ ย่าน สถานี ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน
- มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผน บริหารจัดการ พัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีศักยภาพสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการช่างกล
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การควบคุม การบำรุงรักษา ซ่อมแซม ออกแบบ สร้างการจัดหารถจักร รถโดยสาร รถสินค้าและล้อเลื่อนอื่น ๆ งานด้านเทคนิควิศวกรรมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ฝ่ายการพัสดุ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง จัดหาวัสดุอุปกรณ์ การบริหารพัสดุ คงคลัง การตรวจรับ และการจัดสรรให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
กองควบคุมการปฏิบัติการ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ เสนอแนะสถานภาพการหมุนเวียนล้อเลื่อน การชำรุดของรถจักรและล้อเลื่อน เหตุอันตรายด้านการเดินรถและการวิเคราะห์สาเหตุของเหตุอันตราย รวมทั้งเสนอแนะข้อแก้ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
กองตรวจสอบและควบคุมการประเมินผล
มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การตรวจสอบ ควบคุม การใช้การสำรองและการรับจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของรถจักรและล้อเลื่อน กิโลเมตรทำการ ค่าความพร้อมใช้ของรถจักรและล้อเลื่อน การใช้รถจักรตามประเภทขบวนรถ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย