เกี่ยวกับกระทรวง

การท่าเรือแห่งประเทศไทย

  • ประวัติ
  • วิสัยทัศน์ ภารกิจ
  • อำนาจหน้าที่

ประวัติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นรัฐวิสาหกิจสาธารณูปการในสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2494 มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการท่าเรือ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทยรับผิดชอบบริหารท่าเรือที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง 

    หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็น ระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475 ความคิดริเริ่มที่จะก่อสร้างท่าเรือของรัฐให้ทันสมัย โดยพลเรือโท พระยาราชวังสันซึ่งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะนั้น ได้เสนอโครงการขุดลอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมกิจการด้านพาณิชย์นาวีให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถผ่านร่อง น้ำเข้ามาบรรทุก - ขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือได้อย่างสะดวกและปลอดภัย แทนการลำเลียงสินค้าระหว่างกรุงเทพ - เกาะสีชังที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม และปรับปรุงท่าเรือที่มีอยู่ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ แต่โครงการของพลเรือโท พระยาราชวังสัน ต้องประสบกับอุปสรรคนานัปการ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ส่งเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานใหญ่สันนิบาตชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สองปีต่อมา  สันนิบาตชาติได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาสำรวจสภาพเศรษฐกิจการค้าในกรุงเทพ และสำรวจสถานที่สร้างท่าเรือของรัฐบาลไทย ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ได้เสนอให้มีการขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และเสนอบริเวณที่จะก่อสร้างท่าเรือให้รัฐบาลไทยเลือก 2 แห่ง คือ ที่ปากน้ำสมุทรปราการ กับที่ตำบลคลองเตย รัฐบาลจึงเลือกที่ตำบลคลองเตยเป็นที่ก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งก็คืออาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน 

  ปี พ.ศ. 2478  รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการจัดสร้างท่าเรือขึ้น มีพลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธานกรรมการดำเนินการขุดลอกสันดอนปาก แม่น้ำ
เจ้าพระยา และสร้างท่าเรือที่ทันสมัยที่ตำบลคลองเตยตามข้อเสนอของสันนิบาตชาติ 

  ปี พ.ศ. 2479 คณะกรรมการจัดสร้างท่าเรือดำเนินการ ประกวดการออกแบบก่อสร้างท่าเรือ ปรากฏว่า แบบก่อสร้างท่าเรือของ ศาสตราจารย์อากัตซ์ ชาวเยอรมันได้รับการคัดเลือกสำหรับการประกวดราคาค่าก่อสร้างท่าเรือ ปรากฏว่า บริษัท คริสเตียนีแอนด์นีลเสน ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างท่าเรือในวงเงิน 20 ล้านบาท 

  ปี พ.ศ. 2481  รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ ให้หลวงประเสริฐวิถีรัถ นายช่างจากกรมรถไฟมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ (พ.ศ.2481-2486) และควบคุมการก่อสร้าง โดยมีนาย โรเบอร์ต ชวาทเก เป็นนายช่างที่ปรึกษา ขึ้นตรงต่อกระทรวงเศรษฐ-การ และเริ่มลงมือก่อสร้างท่าเรือที่คลองเตย 

  ปี พ.ศ. 2483  รัฐบาลได้สั่งต่อเรือสันดอน 1 จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และเริ่มขุดลอกร่องน้ำ แต่งานขุดลอกร่องน้ำและการก่อสร้าง ท่าเรือต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในขณะนั้น ท่าเรือกรุงเทพมีเพียงเขื่อนเทียบเรือยาว 1,500 เมตร มีโรงพักสินค้า 4 หลัง คลังสินค้า 3 ชั้น 1 หลัง (คลังสินค้าทัณฑ์บนปัจจุบัน) อาคาร OB (ตึกอำนวยการปัจจุบัน)

  ปี พ.ศ. 2490  ได้เปิดดำเนินกิจการท่าเรือ โดยมี หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการ และคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดวางนโยบายและควบคุมกิจการสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน 

  ปี พ.ศ. 2491  นาวาเอกหลวงสุภีอุทกธาร (สุภี จันทมาส) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ ดำเนินการซ่อมแซมอาคารต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม พร้อมกับก่อสร้างเพิ่มเติม 

  ปี พ.ศ. 2494  รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารโลกมาดำเนินการขุดลอกร่องน้ำสันดอนทางเดินเรือ จากปากน้ำสมุทรปราการ-ในแม่น้ำ เจ้าพระยาถึงท่าเรือคลองเตย รวมระยะทางประมาณ 66 กิโลเมตร และจัดซื้ออุปกรณ์การยกขนสินค้ามาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ 

   ในเดือน พฤษภาคม 2494  รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2494 จัดตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้น เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมรับโอนกิจการท่าเรือจากสำนักงานท่าเรือกรุงเทพมาดำเนินการ 

   นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับการก่อตั้งเป็นต้นมา กิจการด้านการขนส่งทางน้ำได้มีการพัฒนาเรื่อยมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน โดยในอดีตสินค้าที่ขนส่งทางทะเลเป็นเรือสินค้าทั่วไปและสินค้ากอง ท่าเทียบเรือที่มีอยู่ในขณะนั้นได้แก่ ท่าเทียบเรือเขื่อนตะวันตก จำนวน 9 ท่า เป็นท่าสำหรับบรรทุก - ขนถ่ายสินค้าทั่วไปและสินค้ากอง จนกระทั่งการขนส่งสินค้าด้วยระบบคอนเทนเนอร์ได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทย ประมาณปี 2518-2520 การท่าเรือฯ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือเขื่อนตะวันออกเพื่อใช้เป็นท่า อเนกประสงค์และจัดให้รับตู้สินค้า โดยเปิดใช้งานได้ในปี 2520
  ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา มีการบรรทุก - ขนถ่ายตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนท่าเรือกรุงเทพเริ่มแออัดเนื่องจากเครื่องมือทุ่นแรงที่จำเป็นสำหรับ บรรทุก - ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายตู้สินค้ามีไม่เพียงพอ จนกระทั่งปี 2530-2531 เกิดภาวะความแออัดอย่างรุนแรง การท่าเรือฯ จึงได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือเขื่อนตะวันออกเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้า โดยติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่าในระยะเริ่มแรกจำนวน 7 คัน และได้จัดซื้อเพิ่มเติมจนปัจจุบันมีจำนวน 14 คัน ปรับปรุงพื้นที่หลังท่าให้สามารถวางตู้สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือทุ่นแรงบริเวณหลังท่า เพื่อใช้จัดเรียงตู้สินค้า และนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการ ทำให้มีวิสัยสามารถในการรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้าน ที.อี.ยู. ภายหลังรัฐบาลได้มีนโยบายจำกัดตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพไว้ที่ 1 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี เพื่อลดปัญหาการจราจรและส่งเสริมให้มีผู้ไปใช้ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มมากขึ้น 

เนื่องจากท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือแม่ น้ำ ทำให้มีข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ประกอบกับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาท่าเรือ ขนาดใหญ่เพื่อรองรับเรือและสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เกิดภาวะความแออัดอย่างรุนแรงในปี 2530 - 2531 ทำให้รัฐบาลได้เร่งรัดได้มีการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2533 และเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2534 โดยในระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการเปิดใช้ท่าเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับบรรทุกขนถ่ายตู้สินค้าเป็น การชั่วคราว เพื่อผ่อนคลายความแออัดที่ท่าเรือกรุงเทพ 

   ตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมาการท่าเรือฯ ได้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการของท่าเรือต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบนอกจากนี้ยังได้นำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่และ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานเป็นแบบธุรกิจเอกชน เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและรองรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต ตลอดจนนำระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ มาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ ณ วันนี้การท่าเรือฯ ได้ก้าวมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ การค้าของประเทศ มีผลประกอบการที่ดีติด 10 อันดับแรกของรัฐวิสาหกิจที่นำเงินรายได้เข้ารัฐสูงสุด ได้รับการประเมินผลงานจากรัฐบาลให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีติดต่อกันหลายปี เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ
วิสัยทัศน์

“มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”

 
ตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของท่าเรือภายใต้ความรับผิดชอบของการท่าเรือฯ
  • ท่าเรือกรุงเทพ :
    “เป็นท่าเรือแม่น้ำที่ได้มาตรฐานสากล บริการที่เป็นเลิศ สร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการค้าของประเทศ”
  • ท่าเรือแหลมฉบัง :
    “เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลกแบบไร้รอยต่อ”
  • ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน/ท่าเรือเชียงของ :
    “เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐาน”
  • ท่าเรือระนอง :
    “เป็นประตูการขนส่งหลักทางฝั่งทะเลอันดามันที่ได้มาตรฐาน”
 
ค่านิยม
"ยึดมั่นธรรมาภิบาล บริการด้วยใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือเพื่อองค์กร"
 
 
ภารกิจ
  1. พัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก (World Class Port) เพื่อสนับสนุนและเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  2. พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง (Intermodal Transport) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก
  3. พัฒนาการใช้ประโยชน์สินทรัพย์ในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม และสนับสนุนการเติบโตขององค์กร
  4. พัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะสูง เพื่อสนับสนุนการบริการและการดำเนินงานที่เป็นเลิศ
  5. สร้างความนิยมและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนโดยรอบต่อการดำเนินกิจการท่าเรือและบทบาทความสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตและความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์
  1. พัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานในระดับโลก (World Class Port)
  2. พัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง (Gateway & Intermodal Transport)
  3. พัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Assets Management)
  4. พัฒนาการให้บริการและกระบวนการทำงานสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง (Best in Class of Services and Operations)
กลยุทธ์การท่าเรือฯ ปีงบประมาณ 2561-2564
     การท่าเรือฯ ได้กำหนดกลยุทธ์และระบุกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุกลยุทธ์ ตัวชี้วัด เป้าหมายขององค์กร และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2562-2566 ดังนี้   
กลยุทธ์ที่ 1 : พัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก สนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลัก ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
กลยุทธ์ที่ 2 : พัฒนาและขยายบริการธุรกิจหลักและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนกิจการท่าเรือและพัฒนาประเทศ
กลยุทธ์ที่ 3 : พัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจ โดยจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อช่วยดำเนินการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม และผลตอบแทน
กลยุทธ์ที่ 4 : พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
กลยุทธ์ที่ 5 : พัฒนาและบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดรับกับภารกิจและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง
กลยุทธ์ที่ 6 : บริหารจัดการทางการเงินให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ตอบสนองการพัฒนาองค์กร
กลยุทธ์ที่ 7 : มุ่งเน้นการทำตลาดเชิงรุกและการให้บริการที่ครบวงจร ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กลยุทธ์ที่ 8 : ยกระดับการดำเนินงาน การให้บริการให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เสริมสร้างนวัตกรรม การบริหารที่มีธรรมาภิบาล สร้างความนิยมและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจการท่าเรือ 

อำนาจหน้าที่

การท่าเรือแห่งประเทศไทย แบ่งส่วนงาน ดังต่อไปนี้

1. สำนักเลขานุการคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

- มีหน้าที่ติดต่อประสานระหว่างคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานการประชุมของคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และดำเนินงานอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และปฏิบัติงานธุรการทั้งปวงของคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

2. สำนักตรวจสอบและตรวจการ

- มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานเอกสารทางด้านการเงิน ทรัพย์สินและหนี้สิน เอกสารเกี่ยวกับสินค้า รวมทั้งการตรวจ สืบสวนและสอบข้อเท็จจริง ติดตามผลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนงานในสำนักตรวจสอบและตรวจการ มีหน้าที่ 
2.1 กองตรวจสอบภายใน 
- ดำเนินงานตรวจสอบด้านบัญชี หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับการรับ-จ่ายเงิน รายได้รายจ่าย ทรัพย์สินและหนี้สิน ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้าและส่งออก 
2.2 กองตรวจการ 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจ แนะนำ สืบสวน สอบข้อเท็จจริง เร่งรัดประสานงาน ติดตามผล และประเมินผลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้

3. กองประชาสัมพันธ์

- มีหน้าที่ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ ติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชน ถ่ายภาพและภาพยนตร์ ตรวจข่าวสารและบทความที่เกี่ยวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่ทางสื่อมวลชน แก้ข่าวที่สื่อมวลชนเผยแพร่ผิดไปจากนโยบายและข้อเท็จจริง ต้อนรับและให้คำชี้แจงแก่บุคคลภายนอกที่สนใจมาเยี่ยมชมกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวบรวมสารคดีและข่าวสารที่เกี่ยวกับกิจการการท่าเรือแห่งประเทศไทยออกเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน ประสานกับหน่วยงานและองค์กรนานาชาติที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิก ผลิตสื่อต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

4. สายงานบริหาร

สำนักผู้อำนวยการ 
- มีหน้าที่ดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ควบคุมรับผิดชอบงานส่วนกลาง และงานธุรการที่ไม่อยู่ในหน้าที่ของฝ่าย สำนัก และกองอื่นๆ รวมทั้งการดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์และงานด้านกฎหมาย ส่วนงานในสำนักผู้อำนวยการ มีหน้าที่ 

4.1.1 กองกลาง 
- ประสานงานตรวจสอบเรื่องราวและความเห็น ติดต่อ โต้ตอบ รับส่งเอกสาร พิมพ์หนังสือ บันทึก ร่างหนังสือ ออกหนังสือเวียน เก็บเอกสารส่วนกลาง แปลหนังสือและเอกสารภาษาต่างประเทศ ดำเนินงานธุรการที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของฝ่าย สำนัก และกองอื่น ๆ 

4.1.2 กองกฎหมาย 
- ดำเนินงานการกระทำนิติกรรมและสัญญา การดำเนินคดีในศาลทั้งปวง การเสนอข้อคิดเห็นในปัญหากฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ การจดทะเบียนผู้ประกอบกิจการ บรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเลต่างประเทศ และการสอบสวนพนักงานผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย 

4.1.3 ศูนย์บริการการให้บริการและข้อมูลข่าวสาร 
- มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องเบื้องต้นในการให้บริการ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ สรุปวิเคราะห์และจัดประเภทเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติและการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำแก่ผู้มาติดต่อ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขอข้อมูลการเรียกเก็บหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม ให้บริการและอำนวยความสะดวกในการนำสินค้า ของใช้ส่วนบุคคลออกจากท่าเรือกรุงเทพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และข้าราชการทางการทูตของไทยที่ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่างประเทศ โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมศุลกากร การควบคุมการบันทึกคุณภาพ ตามระบบมาตรฐานที่กำหนด 

ฝ่ายการบุคคล 
- มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการบุคคล โครงสร้างบัญชีเงินเดือน การกำหนดและควบคุมอัตรากำลัง การแรงงานสัมพันธ์ การพัฒนาบุคลากร การศึกษาอบรม การรักษาพยาบาล การอนามัย และสวัสดิการสงเคราะห์ ส่วนงานในฝ่ายการบุคคล มีหน้าที่ 

4.2.1 กองอัตรากำลัง 
- ดำเนินงานการบรรจุแต่งตั้ง จัดอันดับอัตราเงินเดือน กำหนดและควบคุมอัตรากำลังของพนักงาน จัดทำงบทำการประเภทค่าจ้างรายเดือน เก็บและรักษาทะเบียนประวัติพนักงาน ตรวจสอบหลักฐานการขอเลื่อนเงินเดือน และค่าจ้างประจำปี 

4.2.2 ศูนย์พัฒนาบุคคล 
- จัดฝึกอบรม พัฒนาพนักงานและจัดทำหลักสูตรต่างๆ อบรมปฐมนิเทศ ศึกษาค้นคว้าในวิทยาการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขปัญหาในการฝึกอบรม การส่งพนักงานไปศึกษาเพิ่มเติม รับการฝึกอบรม สัมมนา ดูงาน ร่วมประชุมทั้งในและต่างประเทศ 

4.2.3 กองการแพทย์ 
- ดำเนินงานการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขอนามัยของพนักงานและลูกจ้าง 

4.2.4 กองสวัสดิการ 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับสวัสดิการ สงเคราะห์ ฌาปนกิจสงเคราะห์ กิจการสโมสร การกีฬาและสันทนาการ และอาคารบ้านพักของพนักงาน 

4.2.5 กองแรงงานสัมพันธ์และความปลอดภัย 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน งานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน งานแรงงานสัมพันธ์ และดูแลให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เพื่อเสริมสร้างสัมพันธ์ภาพและความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการเจรจา ไกล่เกลี่ย และพิจารณาข้อร้องทุกข์ การวางแผน วิเคราะห์วิจัยปัญหาแรงงาน และสิทธิประโยชน์ที่พนักงานพึงได้รับ

5. สายงานการเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ฝ่ายการเงินและบัญชี 
- มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน การคลัง การงบประมาณ การบัญชี ตรวจจ่าย การตรวจสอบ การเก็บค่าภาระ ค่าบริการ และผลประโยชน์ 

ส่วนงานในฝ่ายการเงินและบัญชี มีหน้าที่ 

5.1.1 กองบัญชี 
- ดำเนินการบัญชีจัดทำรายงานการเงิน งบแสดงฐานะการเงินประจำเดือน บัญชีทำการกำไรขาดทุนและงบดุล เก็บรักษาสมุดบัญชี เอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการเงิน 

5.1.2 กองผลประโยชน์ 1 
- ดำเนินงานการคิดค่าภาระผลประโยชน์ และการออกใบแจ้งหนี้ การพิจารณาเก็บค่าภาระและผลประโยชน์อันพึงได้ การจัดทำสถิติและวิเคราะห์รายได้ ค่าภาระและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าภาระ 

5.1.3 กองผลประโยชน์ 2 
- ดำเนินงานการคิดค่าภาระผลประโยชน์ และการออกใบแจ้งหนี้ การพิจารณาเก็บค่าภาระและผลประโยชน์อันพึงได้ การจัดทำสถิติและวิเคราะห์รายได้ค่าภาระ และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าภาระ 

5.1.4 กองคลัง ดำเนินงานการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การฝาก-ถอนเงินกับธนาคาร การส่งใบแจ้งหนี้และเก็บเงิน การเบิกจ่ายและหักเงินตามข้อผูกพัน 

5.1.5 กองตรวจจ่าย 
- ดำเนินงานการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ อาทิ งบลงทุน ครุภัณฑ์ ค่า ใช้สอย เงินสวัสดิการต่าง ๆ เงินกู้โครงการต่าง ๆ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยขยัน โบนัส รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของการออกบิล เพื่อเก็บค่าภาระ และเอกสารการปล่อยสินค้าทั้งขาเข้า-ขาออก 

5.1.6 กองงบประมาณ 
- ดำเนินงานการจัดทำงบประมาณประจำปี ควบคุมงบประมาณ การทำรายงานการใช้เงินตามงบประมาณ และทำทะเบียนคุมงบประมาณ รวมทั้งดำเนินการขอเงินและเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน 

ฝ่ายการพัสดุ 
- มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาพัสดุ การเบิกจ่าย การคุม การเก็บรักษาพัสดุ และดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน และอาคารของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งการดูแล ระวังรักษาการจัดหาและจัดเก็บผลประโยชน์ ส่วนงานในฝ่ายการพัสดุ มีหน้าที่ 

5.2.1 กองพัสดุ 
- ดำเนินการจัดหาพัสดุ การเบิกจ่าย การคุมเก็บรักษาพัสดุในคลังพัสดุ การจัดพิมพ์ใบแบบและเอกสารต่าง ๆ 

5.2.2 กองจัดการทรัพย์สิน 
ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน และอาคารของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งดูแล ระวังแนวเขตที่ดิน และจัดเก็บผลประโยชน์จากการให้เช่าที่ดินและอาคาร วางแผนพัฒนาและจัดทำโครงการในการใช้ที่ดินและอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนจัดทำนิติกรรม และเอกสารสิทธิที่ดินและอาคาร 

ฝ่ายประมวลผลข้อมูล 
- มีหน้าที่ดำเนินงานด้านสถิติต่าง ๆ ระบบงานคอมพิวเตอร์ ประมวลผลและพัฒนาระบบงาน รวบรวมและจัดระบบข้อมูลเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหาร ส่วนงานในฝ่ายประมวลผลข้อมูล มีหน้าที่ 

5.3.1 งานพัฒนาระบบงาน 
- ดำเนินงานพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ตามแผนงานที่กำหนดไว้ให้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา ศึกษาระบบงานปัจจุบัน วิเคราะห์และออกแบบระบบงานใหม่ พัฒนาโปรแกรม ทดสอบระบบโปรแกรม ติดตั้งระบบโปรแกรม และบำรุงรักษาปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ จัดจ้างบริษัทเอกชนมาพัฒนาระบบงาน ติดตามดูแลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และดูแลบำรุงรักษาระบบงานต่อจากผู้รับจ้าง 

5.3.2 งานสนับสนุนด้านเทคนิค 
- ดำเนินงานกำหนดมาตรฐานในการดำเนินกรรมวิธีข้อมูล ดำเนินงานเกี่ยวกับโปรแกรมระบบเครื่อง โดยดูแลและปรับปรุงรักษาโปรแกรมของระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับงานของหน่วยกรรมวิธีข้อมูล การบริหารงานเกี่ยวกับฐานข้อมูลและการสื่อสารข้อมูล 

5.3.3 งานปฏิบัติการประมวลผล 
- ดำเนินการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการทำงาน บันทึกหลักฐานการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมไว้ให้ถูกต้อง ควบคุมการใช้สื่อในการบันทึกข้อมูลประเภทต่าง ๆ ควบคุมและประสานงานในการดำเนินกรรมวิธีข้อมูลเข้าและออกให้ถูกต้อง รวมทั้งการเตรียมข้อมูลลงรหัส บันทึกข้อมูล ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูล ดูแลรักษาสื่อที่ใช้เก็บรักษาข้อมูลให้เป็นระเบียบและมีความปลอดภัย 

5.3.4 งานสารสนเทศเพื่อการบริหาร 
- ดำเนินงานจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานต่าง ๆ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานทางสถิติในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริหาร จัดทำฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลทางสถิติและสารสนเทศ พิจารณานำโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์และวิจัยข้อมูลทางสถิติมาใช้

6. สายงานกิจการพิเศษ

ฝ่ายแผนงานและการตลาด 

ส่วนงานในฝ่ายแผนงานและการตลาด มีหน้าที่ 
6.1.1 ส่วนโครงการและแผนงาน 
- มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการและการพัฒนากิจการท่าเรือ ตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนา และโครงการลงทุนในด้านการเตรียมงานการจัดทำงบประมาณ ประเมินและติดตามผล วิเคราะห์ แก้ไข ปรับปรุงแผนวิสาหกิจ แผนงาน โครงการ แผนปฏิบัติการให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับปัจจุบันและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนดำเนินการเกี่ยวกับงานสิ่งแวดล้อม 

6.1.2 ส่วนพัฒนาธุรกิจและการตลาด 
- มีหน้าที่วางแผนและเสนอแนะแผนการตลาด กำหนดแผนงานและมาตรการต่าง ๆ ทางด้านการตลาด โดยดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านการตลาด รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลวิชาการ และข้อมูลภายนอกอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับกิจการท่าเรือ กำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาด การขาย ส่งเสริมการตลาด สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ รวมทั้งงานประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ 

ฝ่ายการช่าง 
- มีหน้าที่ดำเนินการวางแผนและบริหารงานการช่างโยธา การคำนวณและจัดทำแบบ การช่างเครื่องกล การช่างไฟฟ้า และการช่างโทรศัพท์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ทุก ๆ ฝ่าย ในการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่วนงานในฝ่ายการช่าง มีหน้าที่ 

6.2.1 กองช่างโยธา 
- ดำเนินงานการช่างโยธา ก่อสร้าง รักษาความสะอาด ซ่อมแซมและบำรุงรักษาอาคารและสถานที่และพัสดุครุภัณฑ์ จัดหาแพลเลท ซ่อมถนนและพื้นคอนกรีตและจัดการประปาเพื่อใช้ในอาคารสถานที่ต่างๆ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 

6.2.2 กองแบบแผนและคำนวณ 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผน จัดทำรายละเอียด โครงการ งบประมาณก่อสร้าง ออกแบบ คำนวณแบบ จัดทำแบบ และเงื่อนไขรายการก่อสร้าง 

6.2.3 กองช่างกล 
- ดำเนินงานการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ของยานพาหนะทางบก จัดบริการรถยนต์บรรทุก รถยนต์ตรวจงาน และรถโดยสาร รวมทั้งพิจารณาด้านเทคนิคเกี่ยวกับงานช่างเครื่องกล 

6.2.4 กองช่างไฟฟ้า 
- ดำเนินงานการผลิตพลังไฟฟ้าเพื่อแสงสว่าง และการกำลัง การช่างโทรศัพท์ การติดตั้ง เดินสาย และบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรศัพท์ 

ฝ่ายการร่องน้ำ 
- มีหน้าที่ดำเนินงานการขุดลอก บำรุงรักษาสำรวจความลึกและสภาพของร่องน้ำภายในอาณาบริเวณ ตามโครงการและแผนการที่กำหนด สำรวจและหาข้อมูลทางอุทกวิทยาเกี่ยวกับทางสัญจรทางน้ำ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเครื่องหมายทางเดินเรือ ซ่อมบำรุงรักษาเรือ เครื่องจักรกลประจำเรือ และวัสดุลอยน้ำ ส่วนงานในฝ่ายการร่องน้ำ มีหน้าที่ 

6.3.1 กองการสำรวจร่องน้ำ 
- ดำเนินงานสำรวจร่องน้ำในอาณาบริเวณ และตำบลที่กำหนดในแผนหรือนโยบาย หรือหาข้อมูลทางอุทกวิทยาเกี่ยวกับทางสัญจรทางน้ำ สำรวจความลึกและสภาพร่องน้ำ เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือและการขุดลอก ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องหมาย การสำรวจเครื่องหมายทางเดินเรือ สถานีน้ำ บรรดาเรือสำรวจ เรือร่องน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ 

6.3.2 กองการขุดลอก 
- ดำเนินงานขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำ ทางเดินเรือภายในอาณาบริเวณทางน้ำ และตำบลอื่นที่กำหนดในแผนหรือนโยบายเป็นครั้งคราว 

6.3.3 กองบริการ 
- ดำเนินงานให้บริการเกี่ยวกับงานซ่อมสร้างเครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุลอยน้ำและอื่น ๆ และดำเนินงานเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การพัสดุ การควบคุมราคา การสถิติต่าง ๆ และการขนส่ง

7. ท่าเรือกรุงเทพ

- มีหน้าที่ดำเนินงานให้บริการและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้ใช้ท่าเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้า และคนโดยสารเรือเดินทะเลต่างประเทศ รับมอบสินค้าจากเรือ เก็บรักษาสินค้า และส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง จัดเรือ รับและปล่อยเรือในท่า 

ส่วนงานในท่าเรือกรุงเทพ มีหน้าที่ 

กองบริหารงานทั่วไป 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับงานธุรการ - สารบรรณของท่าเรือกรุงเทพ การวางแผนปฏิบัติงาน แผนพัฒนางานต่าง ๆ และงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงานของท่าเรือกรุงเทพ รวมทั้งงานสินค้าเคมี 

ฝ่ายสินค้า 
- มีหน้าที่ดำเนินงานให้บริการและอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการบรรทุกขนถ่ายสินค้าและคนโดยสารเรือเดินทะเลต่างประเทศ รับมอบสินค้าจากเรือ เก็บรักษาสินค้า และส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง ส่วนงานในฝ่ายสินค้า มีหน้าที่ 

7.2.1 กองปฏิบัติการสินค้า 1 
- ดำเนินงานรับมอบสินค้าจากเรือ เก็บรักษาสินค้า ส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง การกำหนดที่ให้เรือเทียบท่า และออกจากท่า ควบคุมการใช้แรงงาน และเครื่องมือทุ่นแรงที่มาปฏิบัติงาน 

7.2.2 กองปฏิบัติการสินค้า 2 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับการรับมอบ ส่งมอบตู้สินค้าทั้งขาเข้าและขาออก การกำหนดวิธีการปฏิบัติ และควบคุมงานทางด้านตู้สินค้าขาเข้า โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทุ่นแรง และการกำหนดใช้แรงงานในการปฏิบัติงาน 

7.2.3 กองปฏิบัติการสินค้า 3 
- ดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุมการบรรจุตู้สินค้า การควบคุมดูแลตู้สินค้าเปล่า และตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าที่เก็บรักษาในลานตู้สินค้า การกำหนดวิธีปฏิบัติงาน และควบคุมการใช้เครื่องมือสื่อสารและเครื่องมือทุ่นแรงในการปฏิบัติงาน 

7.2.4 กองคลังสินค้า 
- ดำเนินงานรับมอบ เก็บรักษาและส่งมอบสินค้าขาออก สินค้าผ่านแดน สินค้าทัณฑ์บน สินค้าตกค้าง สินค้าอันตราย และสินค้าขายทอดตลาด สินค้า ปอ ฝ้าย นุ่น และสินค้ารถยนต์ 

7.2.5 กองท่าบริการตู้สินค้า 1, 2 
- ดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผนและควบคุมงานในระบบตู้สินค้าทั้งหมด การรับมอบส่งมอบ และการบรรทุกขนถ่ายตู้สินค้าทั้งขาเข้าและขาออก การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือและตู้สินค้า งานสารสนเทศ การตรวจสอบตู้สินค้า การปฏิบัติงานหน้าท่า และลานวางพักตู้สินค้า ควบคุมการจัดเครื่องมือทุ่นแรงปฏิบัติงานในระบบตู้สินค้า รวมทั้งการกำหนดวิธีการปฏิบัติงานระบบตู้สินค้า ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและผู้ใช้บริการ 

ฝ่ายบริการท่า 
- มีหน้าที่ดำเนินงานให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้ท่าเรือในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การให้เช่าใช้เครื่องมือทุ่นแรงและรถเครื่องมือทุ่นแรง การซ่อมบำรุงรักษารถเครื่องมือทุ่นแรง และการรักษาความปลอดภัยทั้งทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ และบุคคล ส่วนงานในฝ่ายบริการท่า มีหน้าที่ 

7.3.1 กองบริการท่า 
- ดำเนินงานให้บริการแก่เรือที่ใช้ท่าในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และการติดต่อสื่อสารกับเรือเดินทะเลต่างประเทศที่เข้าและออกจากท่า 

7.3.2 กองเครื่องมือทุ่นแรง 
- ดำเนินงานให้บริการเช่าใช้เครื่องมือทุ่นแรง และรถเครื่องมือทุ่นแรง การตรวจสภาพและบำรุงรักษาเครื่องมือทุ่นแรง และรถเครื่องมือทุ่นแรง 

7.3.3 ศูนย์รักษาความปลอดภัย 
- ดำเนินการด้านรักษาความปลอดภัย ทั้งทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ และบุคคล ตรวจบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกภายในบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การควบคุมอุบัติเหตุ ควบคุมการปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อลดและบรรเทาอุบัติภัยที่เกิดหรืออาจเกิดขึ้น ทั้งเกี่ยวกับอาคารสถานที่ ทรัพย์สินและบุคคลที่ปฏิบัติ หรือติดต่อเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 

7.3.4 กองซ่อมเครื่องมือทุ่นแรง 
- ดำเนินงานซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องมือทุ่นแรงและรถเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้ในท่าเรือกรุงเทพ รวมทั้งรับผิดชอบการใช้และบำรุงรักษาเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ต่างๆ

8. ท่าเรือแหลมฉบัง

- มีหน้าที่ในการดำเนินกิจการท่าเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบ ณ อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยอาณาบริเวณที่กำหนดไว้ตามนโยบายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รับสินค้าจากเรือ เก็บรักษาสินค้า และส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง จัดเรือ รับและปล่อยเรือในท่า ส่วนงานในท่าเรือแหลมฉบัง มีหน้าที่ 

8.1 กองกลาง 
- ดำเนินงานประสานงานตรวจสอบเรื่องและความเห็น ติดต่อ โต้ตอบ รับส่งเอกสาร จัดหา ควบคุมเบิกจ่ายและเก็บรักษาพัสดุและรับผิดชอบดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด 

8.2 กองแผนงาน 
- ดำเนินงานวิจัยเพื่อจัดทำและปรับปรุงแผนงานและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ควบคุมการจัดทำงบประมาณประเภทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับโครงการและแผนงาน รวมทั้งรับผิดชอบระบบงานคอมพิวเตอร์ 

8.3 กองการบุคคล 
- ดำเนินงานการบรรจุแต่งตั้ง การวิเคราะห์งาน เก็บรักษาทะเบียนประวัติพนักงาน การขอเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงาน สวัสดิการสงเคราะห์และฌาปนกิจสงเคราะห์ 

8.4 กองการเงิน 
- ดำเนินงานงบประมาณ การบัญชี รายงานฐานะการเงิน การรับจ่ายเงิน เก็บรักษาเงิน การคิดค่าภาระ และจัดเก็บค่าภาระและผลประโยชน์ รวมทั้งการจัดทำทะเบียนและตรวจสอบการเบิกจ่ายประเภทต่าง ๆ ของท่าเรือแหลมฉบัง 

8.5 กองนิติการและจัดการทรัพย์สิน 
- ดำเนินงานการทำนิติกรรมและสัญญา การดำเนินคดีในศาลทั้งปวง การวินิจฉัยและเสนอข้อคิดเห็นในปัญหาข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ดูแลระวังรักษาที่ดิน อาคาร และจัดเก็บผลประโยชน์จากการให้เช่าที่ดิน และอาคารของท่าเรือแหลมฉบัง 

8.6 กองบริการ 
- ดำเนินงานการให้บริการแก่เรือที่ใช้ท่าในอาณาบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ติดต่อสื่อสารกับเรือเดินทะเลต่างประเทศที่เข้าและออกจากท่า 

8.7 กองการช่าง 
- ดำเนินงานการโยธา ก่อสร้าง บำรุงรักษาอาคารสถานที่ และสิ่งปลูกสร้างในอาณาบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง การจ่ายพลังไฟฟ้าและการโทรศัพท์ ทั้งการติดตั้ง เดินสาย ตรวจแก้และบำรุงรักษาอุปกรณ์ รับผิดชอบการซ่อมบำรุงรักษารถและเครื่องมือทุ่นแรง ทั้งที่ซ่อมเองและจ้างเอกชนซ่อม 

8.8 กองการท่า 
- ดำเนินงานการรับมอบ เก็บรักษา และส่งมอบสินค้า ตู้สินค้าทั้งขาเข้าและขาออก กำหนดวิธีปฏิบัติงานและควบคุมการใช้เครื่องมือทุ่นแรง และแรงงานที่มาปฏิบัติงาน